อัตราส่วนโซเดียม / โพแทสเซียม เชื่อมโยงกับความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

         โซเดียมมักถูกตำหนิว่า  ทำให้ความดันโลหิตสูง   ในขณะที่โพแทสเซียมได้รับการยกย่องว่า  ช่วยรักษาความดันโลหิตไม่ให้สูง     จริงๆแล้วมันไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะแยกแร่ธาตุทั้งสองนี้ออกจากกัน  เนื่องจากพวกมันทำงานควบคู่กันไปทั่วร่างกาย     อัตราส่วนของโซเดียมต่อโพแทสเซียมในอาหารอาจสำคัญกว่าปริมาณของอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว

         ตามการศึกษาใหม่   สารอาหารสองชนิด  คือ โซเดียมและโพแทสเซียม   มีแนวโน้มที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่งผลต่อความดันโลหิตและความเสี่ยงโรคหัวใจ

         ชาวอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 3 มีความดันโลหิตสูง  (140/90 mmHg หรือสูงกว่า)  และประมาณ 37% มีภาวะ pre-hypertension (120-139 / 80-89 mmHg)     ความดันโลหิตสูงเป็นอันตรายเนื่องจากทำให้หัวใจทำงานหนักเกินไป  และเพิ่มความเสี่ยงต่อ cardiovascular diseases  เช่น โรคหัวใจ และ Stroke (โรคหลอดเลือดสมอง)  ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 และ 3 ทั่วประเทศ

         ในอดีต   นักวิจัยที่ได้รับทุนจาก NIH’s National Heart, Lung and Blood Institute (NHLBI) แสดงให้เห็นว่า  ความพยายามในระยะยาวเพื่อลดปริมาณโซเดียมในผู้ที่มีภาวะ prehypertension  สามารถลดความดันโลหิต  และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

         การทดลองใหม่เพื่อติดตามผลการป้องกันความดันโลหิตสูง (Trials of Hypertension Prevention Follow-up Study)  มีผู้เข้าร่วมเกือบ 3,000 คน ที่อายุ 30 ถึง 54 ปี  และมีภาวะ prehypertension     นักวิจัยเก็บปัสสาวะเป็นระยะ ๆ ในช่วง 24 ชั่วโมง  นานกว่า 18 เดือนในการทดลองหนึ่ง  และ 36 เดือน ในอีกการทดลองหนึ่ง     จากนั้นพวกเขาเปรียบเทียบระดับโซเดียมและโพแทสเซียมในปัสสาวะกับโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ตามมาในช่วง 10 ถึง 15 ปีของการติดตามผล

         ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Internal Medicine เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 พบว่า  มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  หากมีอัตราส่วนโซเดียมต่อโพแทสเซียมสูงขึ้น     อัตราส่วนโซเดียม / โพแทสเซียมที่สูง  เป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในหมู่ผู้เข้าร่วมในการศึกษา   มากกว่าระดับโซเดียมหรือโพแทสเซียมเพียงอย่างเดียว

         ผลลัพธ์เหล่านี้สนับสนุนการค้นพบก่อนหน้านี้ว่า  การลดปริมาณโซเดียมในอาหารในขณะที่บริโภคโพแทสเซียมเพิ่มขึ้น   สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้     “นั่นหมายความว่า  ประชากรทั่วไปควรรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ และมีโพแทสเซียมสูง” ดร. Eva Obarzanek จากแผนกป้องกันและศึกษาประชากร (Division of Prevention and Population Studies) ของ NHLBI ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนร่วมของการศึกษากล่าว

         บรรพบุรุษผู้เป็นนักล่าในยุคหินของเรา  รับประทานโพแทสเซียมประมาณ 11,000 มิลลิกรัม (มก.) ต่อวัน  จากผลไม้, ผัก, ใบไม้, ดอกไม้, รากไม้ และแหล่งพืชอื่น ๆ   และโซเดียมต่ำกว่า 700 มก.     นั่นคืออัตราส่วนโซเดียมต่อโพแทสเซียม 1 ต่อ 16

         การสำรวจโภชนาการแห่งชาติล่าสุดแสดงให้เห็นว่า  โดยเฉลี่ยแล้วชาวอเมริกันบริโภคโซเดียมประมาณ 3300 มก. ต่อวัน (เกลือเกือบ 1-1/2 ช้อนชาต่อวัน) และโพแทสเซียม 2600 มก. ต่อวัน     ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่แนะนำคือ 2300 มก. หรือน้อยกว่าสำหรับโซเดียม   และ 4700 มก. หรือมากกว่าสำหรับโพแทสเซียม     ในความเป็นจริงรายงานล่าสุดพบว่า  มีเพียง 13% ของประชากรที่บรรลุเป้าหมายโซเดียม   และต่ำกว่า 5% ที่บรรลุเป้าหมายโพแทสเซียม

         “ก่อนอื่น  เราต้องอ่านฉลากโภชนาการบนอาหาร  และเลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำ” Obarzanek กล่าว   “เราสามารถคุ้นเคยกับระดับโซเดียมที่ลดลงได้  หากยังคงบริโภคอาหารที่มีโซเดียมต่ำอยู่    เมื่อเวลาผ่านไปรสชาติและความชอบเกลือจะลดลง”

         คุณสามารถเพิ่มปริมาณโพแทสเซียมได้  โดยเลือกอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูปมากขึ้นเช่นผลไม้, ผัก, ธัญพืช, เนื้อสด หรือแช่แข็ง, สัตว์ปีก และปลา  และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน    แหล่งโพแทสเซียมที่ดี ได้แก่ กล้วย, ถั่วดำ, ส้ม, อะโวคาโด และลูกเกด     อาหารเหล่านี้มักจะมีโซเดียมต่ำเช่นกัน

         การเพิ่มปริมาณโพแทสเซียม แม้ว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีสำหรับหลาย ๆ คน   แต่ก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่เป็นโรคไต หรือหัวใจล้มเหลว  หรือผู้ที่รับประทานยาขับปัสสาวะบางชนิด

 

ข้อมูลจาก Harvard Health Publishing และ https://www.nih.gov/